อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ

อัพเดทล่าสุด 30 ก.ย. 2565 03:22:46 น. เข้าชม 183 ครั้ง

ราคา ไม่ระบุ

รายละเอียดประกาศ

น้ำตกพาเจริญเป็นน้ำตกหินปูนที่สวยงามด้วยชั้นน้ำตกที่ไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นเล็กชั้นน้อยจำนวนมาก และตั้งอยู่ริมทางหลวงไม่ไกลจากเมืองแม่สอด จึงเป็นจุดที่นิยมแวะมาท่องเที่ยวและพักผ่อน อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ใน อำเภอแม่สอด และอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ประกอบไปด้วยป่าที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนเป็น แหล่งต้นน้ำลำธาร และยังเป็นต้นกำเนิดของห้วยแม่ละเมา มีเนื้อที่ประมาณ 534,375 ไร่ หรือ 855 ตารางกิโลเมตร

ด้วยกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้จัดตั้งวนอุทยานน้ำตกพาเจริญ ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด ท้องที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2535 ประกอบด้วยกรมป่าไม้ได้ พิจารณาแล้ว เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ป่าบริเวณต่างๆ กำลังถูกทำลาย และยึดถือครอบครองเป็นจำนวนมาก กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 937/2536 ให้นายธารากร อุดมธรรม เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ปฏิบัติงานประจำและทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยานน้ำตกพาเจริญ จังหวัดตาก ไปดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมและจัดตั้งพื้นที่ป่าบริเวณวนอุทยานน้ำตกพาเจริญ ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ละเมา ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด ป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องแคบ และป่าแม่โกนเกน ท้องที่จังหวัดตาก และพื้นที่ป่าบริเวณใกล้เคียงที่มีสภาพเหมาะสมเป็นอุทยานแห่งชาติ จากรายงานการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 เรื่องการจัดตั้งวนอุทยานน้ำตกพาเจริญ จังหวัดตาก ให้เป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด ในท้องที่ตำบลด่านแม่ละเมา ตำบลพะวอ ตำบลธาตุผาแดง ตำบลแม่กุ ตำบลแม่ตาว ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด ตำบลช่องแคบ ตำบลพบพระ ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีสภาพป่าที่สมบูรณ์และมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามเหมาะสมที่จะจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

ต่อมากรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งให้สำรวจพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติโดยกำหนดให้พื้นที่ป่าทั้งหมดในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด เป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 534,375 ไร่ หรือ 855 ตารางกิโลเมตร ในท้องที่ตำบลด่านแม่ละเมา ตำบลพะวอ ตำบลพระธาตุผาแดง ตำบลแม่กุตำบลแม่ตาว ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด และตำบลช่องแคบ ตำบลพบพระ ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2537 วันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งเป็น “อุทยานแห่งชาติ”


 ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนวางตัวไปตามแนวเหนือใต้ มีพื้นที่ราบเล็กน้อยตามเขตลำน้ำ ยอดเขาสูงเด่นในพื้นที่มีดอยป่าตาล ดอยเด่นกระทิง ดอยหลวง ดอยหมากหมื่น เขาลมพักเย็น เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย มียอดเขาที่สูงที่สุดอยู่ทางทิศใต้สูงถึง 1,765 เมตร จากระดับน้ำทะเล พื้นที่ตั้งอยู่ในเขตมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีฝนตกชุกตลอดปี จึงเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของห้วยแม่ละเมา ห้วยอุ้มเปี้ยม ที่มีทิศทางการไหลของน้ำจากทิศใต้สู่ทิศเหนือ มีลำห้วยหลายสายที่มีต้นกำเนิดจากพื้นที่นี้ไหลสู่พื้นที่เกษตรกรรมของอำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ เช่น ห้วยแม่สอด ห้วยแม่ดาว ห้วยผักกูด ฯลฯ

 ลักษณะภูมิอากาศ
เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศตั้งอยู่ในเขตมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ภูมิอากาศส่วนใหญ่จึงมีอากาศเย็นสบาย แบ่งตามฤดูกาลได้ 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มจากเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มจากเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ฤดูหนาว เริ่มจากเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ในช่วงฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนจัด เพราะเป็นที่สูงมีลมพัด ฤดูหนาวไม่หนาวมาก วัดอุณหภูมิต่ำสุดได้ 6 องศาเซลเซียส ฤดูฝนมีฝนตกชุกและสม่ำเสมอตลอดฤดู ปริมาณน้ำฝนอยู่ระหว่าง 1,500-2,000 มิลลิเมตร/ปี

 พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าทั่วไปยังคงสมบูรณ์ ส่วนมากเป็นป่าเบญจพรรณ และป่าบางส่วนเป็นป่าสนเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สัก ยาง ประดู่ สนเขา มะม่วงป่า เต็งรัง เหียง ตะเคียนหนู ตะเคียนทอง มะค่าโมง มะค่าแต้ แดง ยมหอม ยมหิน ฯลฯ ไม้พื้นล่าง เช่น เฟิร์น บอนป่า กระเจียวป่า เป็นต้น

สัตว์ป่า จากการสำรวจพบว่ามีหลายชนิดเช่น กระทิง กวาง เก้ง หมี นกชนิดต่างๆ เสือ หมูป่า ไก่ป่า ไก่ฟ้า งูชนิดต่าง ๆ เม่น อีเห็น ชะนี ลิง กระจง หมาป่า ฯลฯ ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ทางใต้ติดกับอุทยานแห่งชาติ คลองวังเจ้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และสหภาพพม่า

ประกาศ/โฆษณาอื่นๆ ของสมาชิกท่านนี้